ขอเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ของหน่วยงานภาครัฐ
https://itas.nacc.go.th/go/eit/f2hdwa
2021-04-20
เรื่องเล่าเร้าพลัง “3 หมอของประชา คือคุณค่าที่ยิ่งใหญ่”
หากถามว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร และได้สร้างประโยชน์เพื่อสังคมและเพื่อนมนุษย์มากแค่ไหน บางครั้งเราก็ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้หมด รู้เพียงแค่ว่าในแต่ละวัน เราได้ทำหน้าที่ที่เรารัก ได้เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยและญาติ ก็เปรียบเสมือนความสุขเล็ก ๆ ที่ก่อเกิดขึ้นในจิตใจของเรา และการได้ถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ จากประสบการณ์ที่ฉันได้พบเจอมา ก็คงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่แสนจะยิ่งใหญ่เพื่อสร้างแรงบันดาลสำหรับทุกคนได้รับรู้และตระหนักนึกคิดในจิตใจ ในการสร้างพลังและคุณค่าในตนเอง เพื่อพร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่มีข้อแม้
ฉันเป็นข้าราชการที่เพิ่งบรรจุใหม่ ได้ประมาณ 8 เดือน โดยการสอบแข่งขันจากบัญชีสอบของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ก่อนหน้านั้นฉันก็เป็นข้าราชการมาก่อนเพียงแต่บรรจุที่อื่น แต่เมื่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้เรียกบรรจุ ฉันจึงมีความสนใจที่อยากจะมาทำงาน จึงได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นข้าราชการที่เดิมเพื่อมาบรรจุใหม่ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งจากการตัดสินใจลาออกในครั้งนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าในครั้งนี้ ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ได้สร้างความประทับใจในชีวิตการเป็นข้าราชการตัวเล็ก ๆ ของฉัน
ฉันเลือกบรรจุที่ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 4 และสถานที่แห่งนี้ ทำให้ฉันได้พบเจอกับเรื่องราวดีดีที่เกิดขึ้นฉันมีโอกาสได้ไปตรวจราชการกับน้องมนัสพงษ์ มาลา หัวหน้ากลุ่มวิชาการและมาตรฐานระบบบริการสุขภาพที่พื้นที่จังหวัดลพบุรี ในการติดตามประเด็นการตรวจราชการ คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัวสามคน ซึ่งหมอ 3 คนนี้ ได้แก่หมอคนที่ 1 คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หมอคนที่ 2 คือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหมอคนที่ 3 คือหมอเวชปฏิบัติ โดยฉันได้มีโอกาสรับฟังเรื่องราวที่ได้รับการถ่ายทอดการดำเนินงานในระบบ 3 หมอของพื้นที่ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
ฉันได้นั่งฟังอย่างตั้งใจ ในห้องประชุมที่บรรยากาศในห้องค่อนข้างเย็นเฉียบ ซึ่งตรงกันข้ามกับสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนระอุ แต่ฉันได้สังเกตสีหน้าของทุกคนในห้องประชุม เต็มไปด้วยรอยยิ้ม มีความเป็นกันเอง และดูมีความสุข หลังจากที่ได้นั่งฟังซักพัก ทำให้ฉันได้ทราบว่า ตำบลท่ามะนาว มี อสม. หมอประจำบ้าน ทั้งหมด 8 คน เพราะมี 8 หมู่บ้าน ซึ่งจะเห็นแนวทางการดำเนินงานของระบบ 3 หมอที่สามารถเชื่อมโยงกันในแต่ละระบบได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่หมอคนที่ 1 คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีการประสานงานระหว่าง อสม. แต่ละหมู่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น อสม. ได้พบผู้ป่วย แต่ไม่ใช่หมู่บ้านในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน จะแจ้งให้ อสม. ที่รับผิดชอบหรือส่งต่อข้อมูลให้ อสม. ที่รับผิดชอบในหมู่บ้านนั้น ได้ดูแลผู้ป่วยต่อ ซึ่งเห็นภาพค่อนข้างชัดเจนในการทำงานเป็นทีม ระหว่าง อสม. ด้วยกัน ถัดมาเป็นหมอคนที่ 2 คือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่คอยเป็นตัวกลางประสานหลัก ระหว่างหมอคนที่ 1 และคนที่ 3 อย่างไร้รอยต่อ แต่สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือได้เห็นบทบาทของหมอคนที่ 3 คือ หมอเวชปฏิบัติ ของโรงพยาบาลชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โดยทุกวันพฤหัสบดี จะมีคุณหมอมาให้บริการตรวจผู้ป่วยถึงที่บ้าน โดยเฉพาะมีการออกไปเยี่ยมบ้าน เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องภายหลังการรักษา ซึ่งจะมีทีมทีมสหวิชาชีพ ทีมบริบาล และทีมกายภาพบำบัด ที่คอยดูแลผู้ป่วยอีกด้วย
ผู้แทนจาก อสม. ท่านหนึ่งเล่าให้ฉันฟังอีกว่า “ผู้ป่วยจะถามถึงคุณหมอคนที่ 3 จากโรงพยาบาลชัยบาดาลตลอดว่าคุณหมอจะเข้ามาหรือไม่ คิดถึงคุณหมอ อยากมาให้คุณหมอมารักษา” ฉันก็เลยตอบกลับคืนว่า “หากฉันเป็นคนไข้หรือมีญาติที่ฉันรัก ฉันก็คงอยากจะขอมาอยู่ที่ตำบลท่ามะนาวนี้ เพราะหมอทุกคนให้ความใส่ใจเป็นอย่างดี และฉันพร้อมที่เปิดใจให้คุณหมอดูแลทุกอย่าง ฉันคงรู้สึกโชคดีมาก เพราะไม่ต้องไปนั่งรอรักษาที่โรงพยาบาล”
ฉันได้รับฟังด้วยความประหลาดใจ ยิ่งนั่งฟังแล้วก็เกิดความสงสัยในใจว่าเพราะเหตุใดคุณหมอที่เพิ่งจบมาเพียงไม่กี่ปีถึงมีความคิดที่แสนวิเศษเช่นนั้น โดยคุณหมอได้เล่าให้ฉันฟังว่า การได้เห็นเพียงผู้ป่วยได้หายจากโรค หรือจากตอนแรกที่ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถเดินได้ พอเราได้รักษาและทีม 3 หมอได้ช่วยกันดูแลเป็น อย่างดีจนผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง ก็รู้สึกดีมาก หรือการได้เห็นรอยยิ้มของผู้ป่วยมันก็ก่อเกิดความสุขเล็ก ๆ ในจิตใจ
ซึ่งนอกจากจะเห็นถึงระบบการดำเนินงาน 3 หมอ อย่างชัดเจนของตำบลท่ามะนาวแล้ว เราจะเห็นบทบาทของ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่คอยช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน 3 หมอในพื้นที่ การช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณในการดูแลผู้ป่วย และการดำเนินการต่าง ๆ แทนผู้ป่วยโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง เช่น การจัดทำบัตรผู้พิการ หรือการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล อีกทั้งยังมีการประสานงานเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยจิตเวช เช่น การส่งต่อเพื่อนำผู้ป่วยจิตเวชไปรับการรักษาในโรงพยาบาลในเขตพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเป็นทีมสหวิชาชีพที่ช่วยให้ระบบ 3 หมอประสบผลสำเร็จคือการที่ในพื้นที่นี้ มีอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนร่วมด้วย
จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ตำบลท่ามะนาวนี้ ปรากฏเห็นได้ชัดถึงการดำเนินงาน 3 หมอ ซึ่งฉันมองว่า พื้นที่นี้สามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉันได้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของระบบ 3 หมอของพื้นที่นี้คือ การที่ทุกคนมองเห็นผู้ป่วยแล้วรู้สึกเป็นห่วง กลัวว่าถ้าผู้ป่วยไปนั่งรอ ที่โรงพยาบาลแล้วจะลำบาก จึงช่วยกันทำงานเชิงรุก โดยการเข้าไปหาผู้ป่วยที่บ้านเอง ทำให้ได้ใจจากผู้ป่วยและญาติ ทำให้ผู้ป่วยและญาติพร้อมเปิดใจที่จะให้คุณหมอทุกคน เข้ามาดูแลและรู้สึกดีมากที่มีคุณหมอเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้คนไข้ไม่ต้องเสียเวลาไปรอคอยที่โรงพยาบาลเพราะหมอจะเป็นคนไปตรวจผู้ป่วยเองที่บ้าน และรับยาจากโรงพยาบาลไปให้ โดยมี อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นผู้ช่วย และกุญแจที่สำคัญดอกหนึ่งที่จะไขไปสู่ความสำเร็จคือการมีทำงานเป็นทีมหรือการมีทีมงานที่ดีที่คอยช่วยเหลือ สนับสนุนการทำงานของแต่ละบทบาทหน้าที่ ซึ่งทุกคนเปรียบเสมือนนางฟ้าเดินดินที่เสียสละความสุขส่วนตน คอยช่วยเหลือผู้ป่วย โดยไม่มีข้อแม้ ซึ่งกว่าที่แต่ละพื้นที่จะดำเนินงานมาได้ขนาดนี้คงต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่ามะนาว สำนักสาธารณสุขอำเภอ
ชัยบาดาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้
หากเราลองหลับตาลงช้า ๆ ระลึกถึงคุณความดีของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ผู้ที่เสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ร่วมเป็นกำลังสำคัญเพื่อต่อสู้ให้ประเทศไทยยังเป็นสยามประเทศ โดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของผู้อื่น และนึกถึงคุณความดีของบุคลการทางการแพทย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการช่วยต่อสู้กับโรคร้ายที่จะมาทำลายสุขภาพประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่บุคลากรทางการแพทย์ บางท่านได้เสียสละความสุขส่วนตนเป็นกิจที่สอง และเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ได้ร่วมต่อสู้กับโรคโควิด-19 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คงเหลือไว้คือคุณงามความดี ที่ให้ลูกหลานได้สดุดีเหล่าผู้กล้าตราบนานเท่านาน ดังพระบรมราชาโชวาทของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันรับพระราชทานปริญญาบัตรแก่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2530. ความว่า “เมื่อมีโอกาสและมีงานทำควรเต็มใจทำ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ” และในตอนนี้เราคงได้คำตอบแล้วว่า “ชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร และได้สร้างประโยชน์เพื่อสังคมและเพื่อนมนุษย์มากแค่ไหน“
มนุษย์ทุกคนมีโอกาสทำเพื่อประเทศชาติและตอบแทนบุญคุณของแผ่นดีได้มากมาย สำหรับฉันเริ่มต้นจากการที่เรามองเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อขับเคลื่อนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ และคนเราทุกคนสามารถค้นพนความสุขในชีวิตและความอบอุ่นใจด้วยกันการเป็น “ผู้ให้” จากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสิ่งที่ตนเองสามารถกระทำได้ โดยไม่เดือดร้อน หากสังคมเราเต็มไปด้วย “ผู้ให้” สังคมคงจะน่าอยู่และเราทุกคนคงจะมี แต่รอยยิ้มและความสุขนิจนิรันดร์
นางสาวนารีรัตน์ ละม่อม
นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ
ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 4
ผู้เขียนเรื่องเล่า 2 เมษายน 2564
2021-04-02
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า